ธุรกิจรับสร้างบ้าน “ซินเนอร์จี” อสังหาฯ ต่อจิ๊กซอว์พัฒนาโครงการ-แก้ปมจัดสรร “แรงงาน” ขาด
ธุรกิจรับสร้างบ้าน หนึ่งในเซ็กเตอร์ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายที่ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะผลพวงจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น อันเป็นผลพวงจากเรื่องสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้ต้นทุนทางด้านค่าพลังงานของประเทศไทยต้องขยับขึ้นติดต่อในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงในเรื่องของราคาวัสดุก่อสร้างที่แพงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ราคาเหล็กไปแล้ว 50% สินค้ากลุ่มกระเบื้องเริ่มจะส่งผลกระทบต่อตลาด เพราะผู้ผลิตรายใหญ่มีการหยุดไลน์การผลิตสินค้าลง เนื่องจากยอดขายลดลงจากความต้องการซื้อที่ยังไม่พลิกฟื้นมากเท่าที่ควร
นี่คือวังวนที่ธุรกิจรับสร้างบ้านยังคงต้องรับมือและบริหารจัดการธุรกิจให้รอดไปอีกปี ซึ่งมีสภาพไม่ต่างกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และยิ่งบริษัทรับสร้างบ้านขนาดกลางและเล็ก หาก Scale ของธุรกิจไม่ใหญ่ด้วยแล้ว อำนาจในการต่อรองกับซัปพลายเออร์ หรือกับสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ ประตูจะอาจจะ “แคบลง”
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจรับสร้างบ้านกับการหลุดกรอบของธุรกิจหลักนั้น แม้จะไม่ค่อยได้เห็น แต่ใช่ว่าจะไม่สามารถ เพียงแต่วิธีการและรูปแบบการออกไปสู่ธุรกิจอื่นๆ แบบเต็มตัวคงมีไม่เพียงกี่ราย
บริษัท รอแยลเฮ้าส์ จำกัด เป็นอีกตัวอย่างของผู้ประกอบการในธุรกิจรับสร้างบ้านที่แตกไลน์ไปสู่ตลาดใหม่ โดยได้เปิดตัวบริษัทย่อยในนามบริษัท รอแยลเฮ้าส์ อีเลฟเว่น จำกัด เพื่อเริ่มต้นทำธุรกิจพัฒนาจัดสรรที่ดิน โครงการแรกที่ได้เปิดตัว คือ คอนโดมิเนียม “โคคูน พระราม 9” มูลค่าโครงการ 305 ล้านบาท ซึ่งแม้จะเป็นโครงการแรกในธุรกิจอสังหาฯ ของเจเนอเรชันที่ 3 แต่หากย้อนไปแล้ว ครอบครัวตระกูลโควิสุทธิ์ ค่อนข้างชื่นชอบในการลงทุนและซื้อที่ดินเก็บไว้ และมีการพัฒนาโครงการอสังหาฯ มาก่อนหน้านี้
นายวรวุฒิ กาญจนกูล ประธานบริหาร บริษัท ดับบลิวเฮ้าส์ จำกัด กล่าวในฐานะนายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (HBA) เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวถึงตลาดรับสร้างบ้านในไตรมาสแรกปี 65 ที่ผ่านมาแล้วว่า ตลาดรับสร้างบ้านยังทรงตัวอยู่ ไม่ถึงกับลดลงไป แต่เรามาเจอสถานการณ์ที่หนักเลย คือ เรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้หลายอย่างเกิดความผันผวน โดยเฉพาะในเรื่องราคาวัสดุก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นราคาเหล็ก อุปกรณ์ก่อสร้าง ในช่วงนี้มีการปรับราคาหลายระลอก และคาดว่าในเดือนเมษายนนี้ ปูนผสมเสร็จจะขึ้นอีกครั้งคิวละ 70-100 บาท ทำให้วัสดุก่อสร้างประเภทอื่นๆ ที่ต้องมีส่วนผสมจากปูนต้องพาเหรดขึ้นอีกรอบ เช่น เสาเข็ม ผนังเทียม ไม้เทียม เป็นต้น
“เราคิดว่าตลาดต่ำกว่า 5 ล้านบาทในกรุงเทพฯ และปริมณฑลอาจจะเป็นกลุ่มที่มีความกังวลต่อสถานการณ์ อาจชะลอการตัดสินใจปลูกสร้างบ้าน ส่วนตลาดต่างจังหวัด เช่น ภาคอีสาน ภาคใต้ มีการเจริญเติบโต แทนที่จะจ้างผู้รับเหมา มาจ้างบริษัทรับสร้างบ้านมากขึ้น ส่วนกลุ่มบ้านแพงซึ่งมีกำลังซื้อยังคงเดินหน้าต่อเพื่อล็อกต้นทุน จากที่มีสัญญาณในไตรมาส 2 ราคาวัสดุก่อสร้างจะปรับขึ้น ทำให้แนวโน้มราคาบ้านต้นทุนใหม่จะปรับขึ้นร้อยละ 5-8 ซึ่งในความเป็นจริง ต้นทุนรับสร้างบ้านขึ้นไปจริงๆ ในภาพรวมกว่าร้อยละ 10 แม้แต่ภาคอสังหาฯ ได้รับผลกระทบ”
อย่างไรก็ดี รับสร้างบ้านกำลังมองหาโอกาสใหม่ โดยมีบริษทอสังหาฯ รายใหญ่ 2-3 รายเริ่มกลับมาคุยกับบริษัทรับสร้างบ้าน ในประเด็นที่อยากจะได้ทีมงานมาสร้างบ้านให้โครงการจัดสรร สร้างความมั่นใจให้ได้ว่าจะสามารถผลิตได้ตามที่ต้องการ ภายใต้ต้นทุนที่อาจจะแพงขึ้น เนื่องจากในอดีต บริษัทพัฒนาอสังหาฯ จะจ้างแรงงานในราคาที่ไม่สูง แต่ในปัจจุบันค่าแรงสูงขึ้น ต้นทุนวัสดุก่อสร้างแพง การจะทำราคาต่อตารางเมตร (ตร.ม.) เหมือนในช่วงที่ผ่านมาทำไม่ได้ ดังนั้น บริษัทอสังหาฯ กำลังพิจารณาบริษัทรับสร้างบ้านที่อยู่ในสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านไปร่วมงาน เพื่อให้เกิดความมั่นคงในการผลิตมากขึ้น เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา โควิดทำให้ผู้รับเหมาล้มหายไปเป็นจำนวนมาก แรงงานต่างด้าวยังไม่สามารถกลับมาได้ นี่จึงเป็นสเต็ปของการทำธุรกิจที่จะต้องเกิดขึ้นต่อไป แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อได้
“ของผมคือ บริษัท ดับบลิวเฮ้าส์ จำกัด มีไปสร้างบ้านให้ทางโครงการที่พัทยา ราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป รวมถึงที่เขาใหญ่ ลูกค้าที่ซื้อที่ดินกับทางโครงการสามารถสร้างบ้านตามแบบบ้านของบริษัทฯ ภายใต้คอนเซ็ปต์ที่ตรงกับทางโครงการ ส่วนนี้จะทำให้เจ้าของโครงการไม่มีภาระเรื่องสถาปนิกผู้ออกแบบ ไม่ต้องมีผู้รับเหมา ต้นทุนลดไป ซึ่งผลักดันให้เกิดแนวธุรกิจใหม่ การประสานความร่วมมือ เกิดประโยชน์ร่วมกัน เป็นเอสเคิร์ฟตัวใหม่ได้” นายวรวุฒิ กล่าว
อ้างอิง
https://m.mgronline.com/stockmarket